วันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เรื่อง Action ของคันเบ็ด

เรื่อง Action Rod Taper และ Rod Power ของคันเบ็ดตีเหยื่อปลอม  
หากกล่าวย้อนไปในสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นนักตกปลามือแม่น้ำ หนอง คลอง บึง หรือบ่อตกปลา นั้น คันเบ็ดที่เพื่อน ๆ ใช้กัน มักมีคำระบุแอ็คชั่นคันเบ็ด ไว้อยู่ด้วย ซึ่งคำว่าแอ็คชั่น ของคันเบ็ดที่ที่ระบุไว้นั้น มักพบอยู่ 3 คำหลัก ๆ ซึ่งได้แก่คำว่า Light และ Medium และคำสุดท้ายคือ Heavy

นอกจากนั้นยังแบ่งย่อยได้อีกประมาณ 3 แบบ หากแต่แอ็คชั่นเหล่านั้นได้ถูกระบุไว้ ในชนิดคันเบ็ดสำหรับตกปลาที่ใช้งานได้ทั่ว ๆ ไป เช่นคันสำหรับตกด้วยเหยื่อสด หรือขนมปังปั้นตระกร้อ หรือแม้แต่คันตกปลาทะเล ก็พบว่ามีการระบุคำว่า Action : แล้วตามต่อด้วยข้อมูลแอ็คชั่นของคันเช่นกัน

เพื่อน ๆ หลายท่าน เมื่อเข้าสู่รูปแบบการตกปลา ด้วยเหยื่อปลอม ก็มักจะแสวงหารูปแบบของคันเบ็ดที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับเกมส์ชนิดนี้ ซึ่งคันตีเหยื่อปลอมทั่ว ๆ ไป นั้น เราไม่สามารถใช้คันเพียง 1 คันให้เหมาะสม ที่สุด กับการใช้งานเหยื่อปลอมทุกชนิดได้

ดังนั้นบริษัทผลิตคันเบ็ดสำหรับงานเหยื่อปลอมทั้งหลาย จึงได้ระบุแอ็คชั่นออกมาเป็นคำที่ไม่คุ้นเคยสำหรับนักตกปลาอย่างเรา ๆ ซึ่งคำเรียกนั้น คือข้อระบุ Taper ของคัน

เมื่อแรกเริ่มผมเอง และคิดว่าหลาย ๆ ท่าน เมื่อได้ยินคำว่า Fast หรือ Slow ที่นักตกปลาด้วยเหยื่อปลอมบางคนพูดกัน ก็มักจะเกิดความสงสัย ว่าคำเหล่านี้ไม่คุ้นหูเอาเสียเลย

กับความสับสนในเรื่องนี้ คำอธิบายต่อไปนี้อาจพอจะคลายข้อสงสัยให้ได้บ้างครับ แม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม

คำว่า Rod Taper ของคันเบ็ดตีเหยื่อปลอมโดยทั่วไปนั้น หมายความให้เข้าเข้าใจได้ง่าย ๆ คือลักษณะสภาพความโค้งงอ หรือสภาพการดัดโค้งของคันเบ็ด เมื่อได้รับโหลดหรือแรงกระทำ ซึ่ง คำว่า Action ก็นิยมเรียกแทนคำว่า Taper ด้วยเช่นกันครับ

Rod Taper แบ่งได้เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ตามบริษัทผู้ออกแบบและผลิตคันเบ็ดออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานกับเหยื่อปลอมได้ เหมาะสมที่สุดดังต่อไปนี้ครับ (คำอ่านอาจเพี้ยนเสียงไปได้จากที่ผมพิมพ์ไว้ให้นะครับ )

1.Extra Fast Taper (เอ็กตร้า ฟาสต์ เทเปอร์)
ลักษณะที่เห็นได้ง่าย ๆ คือโคนคันจะแข็งขึ้นไปตลอดจนเลยช่วงกลางคัน ปลายคันเบ็ดจะมีความอ่อนกว่าอย่างเห็นได้ชัด และเมื่อดันปลายกัน หรือจับทิปตัวปลายงอดูจะพบว่าช่วงปลายคันเบ็ดมีความโค้งงอได้มากเป็นพิเศษ

ในขณะที่ช่วงตั้งแต่กลางคันเบ็ดลงมายังคงแข็ง มาก ๆ อยู่ครับ คันเบ็ดลักษณะเช่นนี้ ไม่พบมากนักในคันเบ็ดสำหรับตกปลาด้วยเหยื่อปลอมในเมืองไทย เพราะเป็นคันเบ็ดที่ออกแบบมาเฉพาะการใช้งานกับเหยื่อประเภทหนอน ยาง ที่มีน้ำหนักเบา ๆ เท่านั้น

เพราะปลายที่อ่อนช่วยในด้านการให้แอ็คชั่นกับเหยื่อเป็นอย่างมาก แต่ช่วงแข็งของคันนั้น เป็นช่วงที่เรียกกว่าให้พลัง (Rod Power)ในการสู้กับปลาเมื่อติดเบ็ดแล้วนั่นเอง คาดว่าคนไทยน้อยคนนัก ที่จับคันแอ็คชั่นนี้แล้วจะเลือกซื้อเพื่อมาใช้งานในช่วงเหยื่อที่เรานิยม ใช้กันครับ

เหตุผลประการหนึ่งของการออกแบบคันลักษณะนี้นั้นก็คือ คุณสมบัติด้านการเซ็ตฮุค ฝังคมเบ็ดเข้าปากของปลา ซึ่งคัน Slow Taper ขาดข้อนี้ไปเมื่อใช้ร่วมกับเหยื่อที่จมอยู่ใต้น้ำมาก ๆ น่ะครับ

( สโลว์เทเปอร์ มักทำคันเบ็ดที่เป็น Light Power เป็นหลัก ซึ่งเหมาะสมกับเหยื่อจำพวกผิวน้ำมากกว่า เนื่องจากเหยื่อผิวน้ำมีแรงต้านการเซ็ทฮุคที่น้อยกว่าครับ )

2. Fast Taper (ฟาสต์ เทเปอร์)
คันเบ็ด ฟาสต์เทเปอร์ เห็นทีจะเป็นคันเบ็ดที่มีแอ็คชั่นฟังดูแล้วน่าใช้สำหรับหลาย ๆ คนครับ Fast Taper Rod นั้น มีการออกแบบมาเป็นพิเศษ ซึ่งมีผลต่อคุณสมบัติการใช้งานที่ต้องการความตอบสนองเรื่อง ของ Sensitive เป็นกรณีพิเศษ และ Rod Power ของคันเบ็ด Fast Taper นี้ ยังเป็นคันเบ็ดที่มีแรงดีดกลับในการต่อต้านแรงดึงจากปลาที่สูงอยู่มากอีก ด้วย

เหยื่อปลอมที่เหมาะสมกับการใช้งาน โดยมากมักเป็นเหยื่อที่คืบคลาน หรือดำดิ่งลงไปด้านใต้น้ำครับ ซึ่งไม่เพียงแต่หนอนยางตัวโต ด้วยลักษณะของด้านปลายคันเบ็ดที่ไม่อ่อนจนเท่าในแบบแรกนั้น จะช่วยทำให้ คันเบ็ด Fast Taper นี้ใช้งานกับเหยื่อที่มีน้ำหนักได้มากขึ้น

อย่างเช่น สปูน กระดี่เหล็กอย่างที่บ้านเราเรียก หรือจะเป็นเหยื่อแคร็งค์เบท และไวเบรชั่น ที่ดำลึกไปถึงพื้นใต้น้ำครับ โดยเฉพาะเพื่อน ๆ ที่พิศมัยการใช้งานปลายางทั้งหลาย นั้นเรียกว่าเหมาะสมมาก ๆ เช่นกัน ทั้งนี้ Power ของคันที่มีมากพอให้เรากระตุก หรือลากเหยื่อให้ออกแอคชั่นจนปลาเข้ากันได้นั้น จะทำให้เรารู้สึกได้ถึงสภาพการเคลื่อนไหวของเหยื่อใต้น้ำตามแต่จินตนาการของ แต่ละท่านอีกด้วย

3. Regular Taper (เรกกิวล่าร์ เทเปอร์ )
คันเบ็ด Regular Taper นี้นับเป็นแบบอย่างของคันเบ็ดดั้งเดิมที่ออกแบบและมีใช้งานมาก่อนที่จะแบ่ง การออกแบบเป็นคันเบ็ด Taper ในเบบต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะกับการใช้งาน กับเหยื่อชนิดต่าง ๆ มากขึ้นครับ

จากสภาพความโค้งงอ ของคัน และพลังของคันเบ็ดที่ยังรักษาไว้ได้นี้ ทำให้คันเบ็ด Regular Taper เป็นคันเบ็ดที่มีช่วงกว้างสำหรับการใช้งานกับเหยื่อในแบบต่าง ๆ ได้มากมาย ผลที่ได้จากการใช้งานคือการส่งเหยื่อที่ทำได้ง่าย แอ็คชั่นที่คันเบ็ดจะส่งผลต่อแอ็คชั่นของเหยื่อก็ทำได้กว้างครับ เรียกว่าใช้เหยื่อกันได้หลากหลาย ตั้งแต่การใช้เหยื่อหนอนยาง ไปจนถึงการใช้เหยื่อปลอมประเภทปลั๊กกันเลยทีเดียว


4.Slow Taper ( สโลว์ เทเปอร์)
เป็นคันเบ็ดที่ออกแบบมาได้ชนิดที่เรียกกว่า ให้ความโค้งของคันแทบจะเป็นวงกลมสมบูรณ์ การเทลาดและโค้งงอของคัน นับแต่กลางคันนั้นให้แอ็คชั่นของคันที่สวยงาม ยิ่งเมื่อปลาติดเบ็ดนักตกปลาที่นิยมอัดปลาอย่างนุ่มนวลนั้น และชอบคันเบ็ดที่โค้งงอสวยได้รูป เวลาสู้กับปลาแล้วนั้น เห็นทีจะชอบคันเบ็ด Slow Taper กันอย่างแน่นอน

เหยื่อที่เหมาะสมกับการใช้งานกับคันเบ็ด Slow Taper นั้นได้แก่ ปลั๊ก ครับ ซึ่งในคันเบ็ด Slow Taper เองนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า เป็นคันเบ็ดที่อ่อนเสียเสมอไป เพราะนอกจาก Rod Taper แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเลือกพิจารณาในการใช้งานคือ Rod Power ครับ

Rod Power เป็นตัวบ่งถึงการใช้งานเหยื่อได้เช่นกัน โดยมาก นักตกปลาด้วยเหยื่อปลอมจะดูขนาดสาย และน้ำหนักเหยื่อเป็นหลักสำหรับการใช้งานคันเบ็ด ว่าจะนำมาใช้งานกับ เหยื่อเจิคเบททรงมินเนาทั้งหลาย หรือจะเป็นปลั๊กแคร็งค์เบทตัวอ้วน ๆ ลิ้นใหญ่ ๆ ที่มีการต้านน้ำมาก ๆ ขณะใช้งาน

สิ่งหนึ่งที่ที่การใช้งาน Slow Taper Rod กับเหยื่อประเภทปลั๊กนั้น คือช่วงแอ็คชั่นที่มีจุดเริ่มและจบที่ดูไม่กระโชก หรือเหยื่อว่ายรวดเร็วเกินไป และการส่งเหยื่อด้วยคันแอ็คชั่นนี้นั้น ทำได้ง่ายครับ หากแต่คันเบ็ด Slow Taper โดยมากในตลาดนั้น มักจะมีตัวเลือกไม่มากนัก และสำหรับนักตกปลาต้องการคันที่มีพาวเวอร์พอเพียงสำหรับเหยื่อตัวโต ๆ มักมีท่อนใหญ่ จนเกินไป จนนักตกปลาบางท่านอาจมองว่าไม่สวย ไม่น่าใช้งาน

5.Super Slow Taper ( ซูปเปอร์ สโลว์ เทเปอร์)
คันเบ็ด ที่มีลำโค่นอ่อนมาก ๆ อย่างแอ็คชั่นนี้นั้น เป็นคันเบ็ดขายดีมาก ๆ แอ็คชั่นหนึ่งเลยทีเดียว เพราะออกแบบมาสำหรับการใช้เหยื่อยอดฮิตอย่าง เหยื่อ Top water หรือเหยื่อผิวน้ำทั้งหลาย

ปกติแล้วเหยื่อผิวน้ำมักมีน้ำหนักเบา กว่าเหยื่อชนิดอื่นเมื่อมีขนาดตัวเหยื่อเท่ากัน การส่งเหยื่อด้วยคันแข็ง ๆ นั้น มักทำได้ไม่ดีนัก เรียกว่าไม่ได้ทั้งระยะ และไม่ได้ทั้งความแม่นยำ อีกทั้งการให้แอ็คชั่นเหยื่อผิวน้ำ ก็ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร

คันเบ็ด ซูปเปอร์สโลว์เทเปอร์ จึงถูกออกแบบมาสำหรับ การใช้งานเหยื่อจำพวกผิวน้ำ ยู่สองแบบใหญ่ คือ ป๊อปเปอร์ และ เพลซิล ครับ สำหรับคันเบ็ดเทเปอร์ แข็ง ๆ นั้น อาจทำให้เหยื่อกระโดดน้ำ และการส่ายของเพลซิลนั้นผิดไป ซึ่งบางคนทำแอ็คชั่นได้ครับกับคันเทเปอร์อื่น ๆ แต่สำหรับ Super Slow Taper นั้น การให้แอ็คชั่นกับเหยื่อจำพวกผิวน้ำนี้ ทำได้ง่ายกว่ามาก เมื่อเหยื่อยู่ผิวน้ำ การเซ็ทฮุคด้วยคันที่ค่อนข้างอ่อน ก็ยังทำได้ดีครับ เพราะไม่มีแรงต้านจากเหยื่อที่จมน้ำมากนัก

หลายท่านอาจนำคันเบ็ด Super Slow Taper นี้ไปใช้งานกับเหยื่อยางตัวเล็ก ๆได้เช่นเดียวกัน หากแต่คันที่มีลักษณะอ่อนเกินไปเมื่อใช้งานกับเหยื่อที่ดำน้ำอยู่ลึก ๆ นั้น จะให้ผลการเซ็ทฮุคที่ไม่ดีพอครับ ผู้ผลิตจึงได้ออกแบบ คันเบ็ด ชนิดที่ 1 หรือ Extra Fast Taper ไว้ให้ใช้งาน

นอกจากนี้ คันเบ็ดที่เหมาะสมกับการใช้งาน กับเหยื่อผิวน้ำ หรือเหยื่ออื่น ๆ อาจมีการปรับใช้ได้อีกเช่นกัน เช่น เราอาจเลือกคันเบ็ด light Power ที่มีลักษณะ เป็น Fast Taper มาใช้งานกับเหยื่อผิวน้ำได้เช่นกันเป็นต้น

อ่านมาถึงตอนนี้ เราจะเห็นว่า คันเบ็ดนั้น แยกกันไหวแบบไม่ขาดกัน กับเรื่องของ Rod Taper กับ Rod Power ครับ ซึ่งต่อไปนี้จะอธิบายไว้คร่าว ๆ ดังนี้

----Rod Taper จุดประสงค์หลักคือเรื่องของการส่งเหยื่อ และการให้แอ็คชั่นกับชนิดเหยื่อที่ใช้
----Rod Power อาจทำมาหลายแบบ ซึ่งในแต่ละแบบอาจมี Rod Taper ที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ เน้นการดูขนาดสาย ขนาดและน้ำหนัก รวมถึงแรงด้านน้ำที่ได้จาก ตัวเหยื่อขณะใช้งานเป็นหลักครับ


มารู้จักพาวเวอร์ของคันกันสักนิดครับ
Rod Power หมายความได้ถึง ความแข็งของคันเบ็ดที่มีผลต่อการเลือกใช้เหยื่อในขนาดน้ำหนักต่าง ๆ รวมถึงการเลือกใช้ให้เหมาะสมกับขนาดของสายเบ็ด และบางทีดูไปจนถึงขนาดของปลาที่จะตกอีดด้วย แต่ข้อระบุเรื่องน้ำหนักปลานั้นไม่เป็นข้อสำคัญในการออกแบบคันเบ็ดมากนัก

คันเบ็ดโดยมากในตลาดมัก ระบุ Rod Power แยกได้ดังนี้
1. Ultra light ใช้กับสายเบ็ดแรงดึงประมาณ 2-8 ปอนด์
2. Medium light ใช้กับสายเบ็ดแรงดึงประมาณ 6-12 ปอนด์
3. Medium ใช้กับสายเบ็ดแรงดึงประมาณ 8-14 ปอนด์
4. Medium Heavy ใช้กับสายเบ็ดแรงดึงประมาณ 8-16 ปอนด์
5. Heavy ใช้กับสายเบ็ดแรงดึงประมาณ 10-20 ปอนด์
6. Extra Heavy ใช้กับสายเบ็ดแรงดึงประมาณ 12-25 ปอนด์ ขึ้นไป

ทั้งนี้ ขนาดสายที่เหมาะสมนั้นไม่ได้ระบุเป็นข้อกำหนดตายตัวครับ มีการแบ่งออกเป็นหลายช่วง เพื่อความเหมาะสมกับเนื้อวัสดุ และขึ้นกับการผลิตคันเบ็ดของแต่ละบริษัทอีกด้วย จากข้อมูลทั้งหมดนี้ จะเห็นว่า การออกแบบคันเบ็ดสำหรับตกปลาเหยื่อปลอมนั้น โดยมากออกแบบไว้สำหรับตกปลาแบสน้ำจืด ซึ่งไม่ได้เน้นที่ขนาดตัวปลาเป็นสำคัญ แต่เน้นที่จะทำมาเพื่อให้นักตกปลาเลือกใช้อุปกรณ์ได้เหมาะสมกับการตกปลาด้วย เหยื่อปลอมชนิดต่าง ๆ นั่นเอง เหตุนี้เรามักเห็นภาพในหนังสือตกปลาแบสของต่างประเทศ ที่นักตกปลาเพียง 1 คน มักหอบหิ้วคันเบ็ดขึ้นเรือตกปลาจำนวน หลาย ๆ คันในคราเดียว

หากนักตกปลาท่านใด มีข้อมูลเพิ่มเติม หรือคำถามใด ๆ หากมีเพื่อนโพสต์ไว้ก็ช่วยกันตอบนะครับ เพราะสิ่งที่ผมเขียนไว้นี้เป็นเพียงขอ้มูลขั้นพื้นฐานเพื่อความเข้าใจใน เรื่องของการออกแบบ Rod Taper และ Rod Power เท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น